Solana Madariaga, Francisco Javier (1942-)

นายฟรันซิสโก คาเบียร์ โซลานา มาดาเรียกา (พ.ศ. ๒๔๘๕-)

 ฟรันซิสโก คาเบียร์ โซลานา มาดาเรียกา หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า คาเบียร์ โซลานา เป็นศาสตราจารย์สาขาฟิสิกส์นักการเมืองสังคมนิยม นักการทูต และรัฐบุรุษที่มีชื่อเสียงของสเปน เขามีบทบาทโดดเด่นในการทำงานระหว่างประเทศหลายตำแหน่ง คือ เป็นผู้แทนระดับสูงที่บังคับบัญชานโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง (High Representative for Common Foreign and Security Policy) เลขาธิการคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the European Union) และเลขาธิการสหภาพยุโรปตะวันตก (Western European Union)* ของสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union-EU)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๙-๒๐๐๙ และเป็นเลขาธิการคนที่ ๙ ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization-NATO)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๕-๑๙๙๙ ทั้งยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลเฟลีเป กอนซาเลส (Felipe Gonzales) อีกหลายตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๒-๑๙๙๕

 โซลานาเกิดเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ ที่กรุงมาดริด ในครอบครัวปัญญาชนที่มีชื่อเสียงของสเปนเขาเป็นบุตรคนที่ ๓ ในบรรดาบุตร ๕ คนของลุยส์ โซลานา ซานมาร์ติน (Luis Solana San Martin) ศาสตราจารย์สาขาเคมี กับโอบดูเลีย มาดาเรียกา เปเรซ (Obdulia Madariaga Pérez) นักเขียนมีชื่อซึ่งมาจากครอบครัวนักประวัติศาสตร์และนักการทูต โซลานาเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในกรุงมาดริด หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนูเอสตราเซญอราเดลปีลาร์ (Nuestra Senora del Pilar School) ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับพวกคาทอลิกในคณะนักบวชมาเรียนิสต์ (Marianist) โดยเฉพาะแล้ว เขาเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยกอมปลูเตนเซ (Complutense University-UCM) ในกรุงมาดริด โซลานา มีรูปร่างหน้าตาและบุคลิกดี เฉลียวฉลาด รอบรู้ ทั้งมีมนุษยสัมพันธ์อันดีกับคนทั่วไปและสนใจการเมืองมาก ใน ค.ศ. ๑๙๖๓ เขาได้เข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษาโดยจัดตั้งเวทีประท้วงการทำงานของฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยในชื่อ “สัปดาห์แห่งการเปลี่ยนโฉมมหาวิทยาลัย" (Week of University Renovation) แม้จะถูกผู้มีอำนาจสั่งยุติกิจกรรมดังกล่าวแต่เขาก็ปฏิเสธที่จะเชื่อฟัง ทั้งยังคงทำกิจกรรมและต่อสู้กับผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อไปใน ค.ศ. ๑๙๖๔ โซลานาเข้าเป็นสมาชิกพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน (Spanish Socialist Workers’ Party-PSOE) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองผิดกฎหมายในสมัยพลเอก ฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco)* ครองอำนาจ (ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๗๕) ในปีเดียวกันนั้น เขาสำเร็จการศึกษาโดยได้รับปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์ หลังจากนั้น โซลานาเข้าศึกษาต่อที่สภาระดับสูงเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของสเปน (Spain’s Higher Council for Scientific Research-CSIC) และที่ประเทศอังกฤษอีก ๑ ปี

 ใน ค.ศ. ๑๙๖๕ โซลานาเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ด้วยทุนฟุลไบรท์ (Fulbright) โดยเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย (University of Virginia) เมืองชาร์ลอตส์วิลล์ (Charlottesville) และได้รับทุนผู้ช่วยสอนในสาขาฟิสิกส์ด้วย ในช่วงเวลา ๕ ปีที่โซลานาศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เขาได้รับประสบการณ์ทั้งในด้านการสอนในชั้นเรียนและการทำงานวิจัยอิสระในสาขาฟิสิกส์หลายเรื่อง เขายังเข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษาอย่างแข็งขันและได้รับเลือกเป็นประธานสมาคมนักศึกษานานาชาติ (Association of Foreign Students) ของมหาวิทยาลัย และได้เข้าร่วมประท้วงการทำสงครามเวียดนามของสหรัฐอเมริการ่วมกับนักศึกษาอเมริกันในช่วงนั้นด้วย โซลานาได้รับปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ ใน ค.ศ. ๑๙๗๑ จากการทำวิทยานิพนธ์เรื่อง Theory of the Elementary Excitation Spectrum of Supeifluid Helium: The Roton Lifetime หลังจากนั้น เขาอยู่ในสหรัฐอเมริกาต่อเพื่อทำงานวิจัยอีก ๑ ปี

 ใน ค.ศ. ๑๙๗๒ โซลานาเดินทางกลับสเปนและทำงานเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัย แห่งมาดริด (University of Madrid) ในตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ใน ค.ศ. ๑๙๗๕ เขาย้ายไปดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ในสาขาวิชาเดียวกันที่มหาวิทยาลัยกอมปลูเตนเซ ระหว่างที่ทำการสอนในมหาวิทยาลัยทั้ง ๒ แห่งนี้ โซลานาทำงานวิจัยอีกหลายเรื่องและมีผลงานทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์มากกว่า ๓๐ เรื่อง ทั้งยังได้เป็นผู้ช่วยของ นีโกลัส กาเบรรา (Nicolás Cabrera) ศาสตราจารย์สาขาฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงซึ่งเคยสอนเขาที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งด้วย นอกจากนี้ โซลานาทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกจนถึง ต้นทศวรรษ ๑๙๙๐ แม้ว่าในภายหลังเขาจะไม่ได้เป็นอาจารย์ประจำแล้วก็ตาม ในช่วงที่เขาเป็นอาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัย โซลานาเข้าเป็นสมาชิกสหภาพครูแห่งสเปนและได้ร่วมกิจกรรมของสหภาพอย่างแข็งขัน

 ขณะเดียวกันใน ค.ศ. ๑๙๗๒ โซลานาเข้าสู่ชีวิตทางการเมืองโดยได้เข้าร่วมกับพรรคประสานงานประชาธิปไตยแห่งมาดริด (Democratic Co-ordination of Madrid) ในฐานะผู้แทนจากพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๗๕ เมื่อนายพลฟรังโกถึงแก่อสัญกรรมและรัฐบาลเผด็จการหมดอำนาจลงแล้ว พรรคแรงงานสังคมนิยมสเปนจึงสามารถดำเนินกิจกรรมด้วยตนเองในฐานะพรรคการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมายได้โดยมีเฟลีเป กอนซาเลสเป็นหัวหน้าพรรค ในการประชุมใหญ่ภายในประเทศครั้งแรกของพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปนใน ค.ศ. ๑๙๗๖ โซลานาได้รับเลือกเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการบริหารสหพันธ์ (Federal Executive Commission) ซึ่งเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคและเป็นเลขานุการฝ่ายประชาสัมพันธ์และสิ่งพิมพ์ (Information and Press) ของพรรคโดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๕ ปี ในยุคหลังฟรังโก โซลานาซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของกอนซาเลส ถือว่าเป็นบุคคลระดับผู้นำของพรรคผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในช่วงการเปลี่ยนผ่านและการปฏิรูปพรรคใน ค.ศ. ๑๙๗๖ เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนพรรคไปร่วมประชุมใหญ่ระหว่างประเทศของพรรคสังคมนิยมที่เมือง ซูแรสน์ (Suresnes) ฝรั่งเศส และอีกครั้งหนึ่งในสเปนใน ค.ศ. ๑๙๗๗

 ในวันที่ ๑๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๗ โซลานาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปนจากเขตมาดริดเป็นครั้งแรก และได้รับเลือกตั้งต่อมาอีกหลายสมัยจนถึง ค.ศ. ๑๙๙๕ ในช่วงนี้เขาผ่านประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นหลายครั้ง เช่น ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๘๑ เมื่อเกิดเหตุการณ์ยึดรัฐสภาโดยคณะรัฐประหารที่นำโดยอันโตเนียว เตเคโร (Antonio Tejero) นานถึง ๑๘ ชั่วโมง โซลานาก็อยูในที่เกิดเหตุด้วย และในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๘๒ เมื่อพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปนชนะการเลือกตั้งได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง ๒๐๒ ที่นั่ง จากจำนวน ๓๕๐ ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเขาก็อยู่ในกลุ่มผู้แทน ๒๐๒ คนนี้ด้วย ต่อมาในวันที่ ๓ ธันวาคมปีเดียวกันเมื่อกอนซาเลสจัดตั้งรัฐบาลสังคมนิยมได้เป็นครั้งแรก โซลานาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและใน ค.ศ. ๑๙๘๕ เขายังได้ควบตำแหน่งโฆษกรัฐบาลอีกตำแหน่งหนึ่ง ใน ค.ศ. ๑๙๘๘ โซลานาย้ายไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ ในช่วงเวลา ๕ ปี ที่เขาดำรงตำแหน่งนี้โซลานามีบทบาทโดดเด่นในการปฏิรูปการศึกษาและวิทยาศาสตร์ของประเทศโดยเป็นผู้ร่างกฎหมายจัดระเบียบองค์กรของรัฐด้านการศึกษา (Organic Law on the Education System) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ยกมาตรฐานการศึกษาของชาติที่ประกาศใช้ใน ค.ศ. ๑๙๙๒

 ในวันที่ ๒๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๒ โซลานาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแทนฟรันซิสโก เฟร์นันเดซ ออร์โดเญซ (Francisco Fernandez Ordonez) ซึ่งป่วยระยะสุดท้าย และในวันรุ่งขึ้นก็ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดยุโรปในฐานะผู้แทนสเปนเป็นครั้งแรก ตลอดระยะเวลาที่เขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โซลานาทำงานสร้างชื่อเสียงให้แก่สเปนหลายครั้ง เช่น ในช่วง ๖ เดือนหลังของ ค.ศ. ๑๙๙๕ เมื่อสเปนได้เป็นประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตำแหน่งประธานสหภาพยุโรปด้วยโซลานาเป็นกำลังสำคัญของนายกรัฐมนตรีกอนซาเลสในการจัดการประชุมสุดยอดยุโรป ๒ ครั้ง คือ ที่นครบาร์เซโลนา (Barcelona) ในเดือนพฤศจิกายนและที่กรุงมาดริดในเดือนธันวาคม ทั้งยังทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้สหภาพยุโรปประสบความสำเร็จในการดำเนินงานในเรื่องที่สำคัญ ๆ อีก ๕ เรื่อง คือ การจัดประชุมระหว่างสหภาพยุโรปกับกลุ่มประเทศริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนระหว่างวันที่ ๒๗-๒๘ พฤศจิกายน เพื่อเริ่มต้น “กระบวนการบาร์เซโลนา” (Barcelona Process) ซึ่งเป็นกระบวนการเสริมสร้างเอกภาพทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน ๑๒ ประเทศ การลงมติในระหว่างการประชุมสุดยอดยุโรปที่บาร์เซโลนาให้เปิดการประชุมระหว่างรัฐบาลชาติสมาชิกขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๙๖ เพื่อแก้ไขสนธิสัญญามาสตริกต์ (Treaty of Maastricht)* การลงนามระหว่างสหภาพยุโรปกับสหรัฐอเมริกาในสนธิสัญญา “New Transatlantic Agenda” เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม การลงนามในความตกลงกรอบความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปกับกลุ่มประเทศเมร์โกซูร์ในละตินอเมริกา [(Framework Corporation Agreement with Mercosur) กลุ่มเมร์โกซูร์ในขณะนั้นประกอบด้วย อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย และอุรุกวัย] ในเดือนธันวาคม และการลงมติในที่ประชุมสุดยอดยุโรปที่กรุงมาดริดให้เงินสกุลเดียวของสหภาพยุโรปที่จะประกาศเปิดตัวใน ค.ศ. ๑๙๙๙ ใช้ชื่อว่าเงินยูโร (Euro)* ชื่อของโซลานาจึงเริ่มเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในเวทีระหว่างประเทศ และเขาก็ได้รับความเชื่อถือในระดับนานาชาติมากขึ้น

 ตลอดช่วงเวลา ๑๓ ปีที่โซลานาเป็นรัฐมนตรีในตำแหน่งต่าง ๆ เขาได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงมากในฐานะที่เป็นนักการเมืองที่มีความสามารถทั้งในเรื่องการทูตและการเมืองระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี ในช่วงท้าย ๆ ของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโซลานาถูกโจมตีเกี่ยวกับการฉ้อราษฎร์บังหลวงตลอดจนการใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง แต่เขาก็หลีกเลี่ยงข้อครหา ดังกล่าวได้ ทำให้ในปลาย ค.ศ. ๑๙๙๕ โซลานาซึ่งเป็นรัฐมนตรีเพียงคนเดียวในรัฐบาลชุดแรกของกอนซาเลสที่ยังมีขีวิตอยู่ได้รับการกล่าวขวัญในสื่อฉบับต่าง ๆ ถึงความเป็นไปได้ที่อาจได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งสเปนแทนกอนซาเลสเพื่อนำพรรคเข้าแข่งขันในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๖ แต่เขาไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเพราะต้องการทำงานทางด้านการเมืองระหว่างประเทศมากกว่า

 ในวันที่ ๕ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๕ โซลานาซึ่งยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอยู่นั้นได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคนที่ ๙ ขององค์การนาโตสืบแทนวิลลี เกลส์ (Willy Claes) ชาวเบลเยียมซึ่งถูกบีบให้ลาออกเนื่องจากกรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับการฉ้อราษฎร์บังหลวงในการจัดซื้อเครื่องบินรบในสมัยที่เขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเบลเยียม แม้ว่าโซลานาจะมีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับตำแหน่งนี้เป็นอย่างมาก เพราะนอกจากทักษะและความสามารถทางการทูตแล้วเขายังพูดและเขียนภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสนอกเหนือจากภาษาสเปนซึ่งเป็นภาษาประจำชาติของเขาได้อย่างคล่องแคล่วด้วย แต่เขาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะในอดีตเขาเคยต่อต้านนาโตโดยเขียนบทความชื่อ “50 Reasons to say no to NATO” ตีพิมพ์ในจุลสารเพื่อเผยแพร่ในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งหลายครั้ง เอกสารชิ้นนี้มีส่วนช่วยให้พรรคแรงงานสังคมนิยมสเปนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ใน ค.ศ. ๑๙๘๒ นอกจากนี้ เขายังมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อบุคคลที่ต่อต้านนาโตของสหรัฐอเมริกาด้วย และแม้เมื่อสเปนเข้าเป็นสมาชิกนาโตในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๘๒ แล้วเขาก็ยังต่อต้านอยู่ แต่เมื่อพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปนขึ้นสู่อำนาจในปีเดียวกัน โซลานาและพรรคกลับเปลี่ยนท่าทีหันมาสนับสนุนองค์การนาโต ยิ่งกว่านั้นในวันที่ ๑๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๘๖ เมื่อสเปนได้จัดให้มีการแสดงประชามติว่าจะคงอยู่ในนาโตต่อไปหรือไม่ โซลานาและรัฐบาลกอนซาเลสยังรณรงค์สนับสนุนองค์การนาโตอย่างแข็งขันจนได้รับชัยชนะ สเปนจึงยังคงเป็นสมาชิกนาโตต่อไป อย่างไรก็ดี เมื่อเข้ารับตำแหน่ง โซลานาก็ได้ตอบโต้คำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นอย่างชาญฉลาดโดยกล่าวว่าเขายินดีที่จะเป็นผู้แทนองค์การนาโตเพราะองค์การนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสงครามเย็น (Cold War)* อีกต่อไปแล้ว

 โซลานาเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการนาโตอย่างเป็นทางการในวันที่ ๑๘ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๕ หลังเสร็จสิ้นภาระงานสุดท้ายของเขาในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสเปนในการประชุมสุดยอดยุโรปที่กรุงมาดริดเพียง ๒ วัน ในช่วงเวลาที่เขาเข้ารับตำแหน่งนั้นเป็นช่วงที่องค์การนาโตกำลังประสบปัญหาในหลาย ๆ ด้าน ทั้งปัญหาการปฏิรูปองค์กรเพื่อปรับเปลี่ยนบทบาทของนาโตใหม่ในยุคหลังสงครามเย็นและปัญหาการทำงานด้านการรักษาสันติภาพในเขตพื้นที่ที่มีความขัดแย้งระหว่างประเทศเกิดขึ้นทำให้เขาต้องรีบเข้าไปแก้ไขโดยทันที โดยเฉพาะปัญหาบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (Bosnia and Herzegovina) ในสงครามบอสเนีย (Bosnian War)* ที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลากว่า ๒ ปี ในวันที่ ๒๐ ธันวาคม เขาได้จัดส่งกองกำลังปฏิบัติการ (Implementation Force-IFOR) จากหน่วยเคลื่อนที่เร็วของพันธมิตรนาโต (Allied Rapid Reaction Corps-ARRC) เข้าไปปฏิบัติการรักษาสันติภาพในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงเดย์ตัน (Dayton Agreement) ที่นาโตได้ลงนามไว้กับผู้แทนบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาในต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๕ หลังเครื่องบินนาโตทำการทิ้งระเบิดตามเป้าหมายสำคัญ ๆ ในดินแดนทั้งสองในเดือนสิงหาคมและกันยายนที่ผ่านมา ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๙๖ เขายังได้ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพชุดที่ ๒ ในชื่อกองกำลังรักษาเสถียรภาพ (Stabilization Force-SFOR) ซึ่งมีกำลังมากกว่าเข้าไปทำหน้าที่ต่อจากชุดแรกที่หมดวาระการปฏิบัติงาน

 อย่างไรก็ดี การดำเนินงานด้านการรักษาสันติภาพในดินแดนทั้งสองก็เป็นเรื่องที่ยากลำบากและก่อให้เกิดความขัดแย้งมาโดยตลอด ทั้งยังทำให้โซลานาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงและกว้างขวาง เพราะกองกำลังรักษาสันติภาพของนาโตไม่สามารถจับตัวชาวเซิร์บซึ่งเป็นหัวหน้ากบฏบอสเนียมาลงโทษได้ ในปลาย ค.ศ. ๑๙๙๘ ความขัดแย้งในคอซอวอ (Kosovo)* ระหว่างรัฐบาลอดีตยูโกสลาเวีย (Yugoslavia) กับกองทัพปลดปล่อยคอซอวอ (Kosovo Liberation Army) ของพวกกองโจรคอซอวอแอลเบเนียได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจนเกิดเหตุการณ์ปะทะกันอย่างรุนแรงในวันที่ ๑๕ มกราคม ค.ศ.๑๙๙๙ ซึ่งมีชาวแอลเบเนียถูกฆ่าถึง ๔๕ คน เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้นาโตตัดสินใจแก้ปัญหาขั้นเด็ดขาดเพื่อบีบบังคับให้ทั้ง ๒ ฝ่ายเปิดการเจรจาร่วมกัน ในวันที่ ๓๐ มกราคม นาโตได้ประกาศว่ากองทัพอากาศนาโตพร้อมที่จะทำการโจมตีเป้าหมายสำคัญ ๆ ในดินแดนอดีตยูโกสลาเวียอีก และต่อมาในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ โซลานาก็ได้เดินทางไปพบผู้แทนทั้ง ๒ ฝ่าย เพื่อเปิดการเจรจาสันติภาพที่ปราสาทรองบุยเย (Chateau de Rambouillet) ในฝรั่งเศส แต่การเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ

 ในวันที่ ๒๔ มีนาคม เครื่องบินนาโตเปิดฉากโจมตีเป้าหมายทางทหารและพลเรือนในอดีตยูโกสลาเวีย ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก โซลานาให้เหตุผลในการส่งเครื่องบินไปโจมตีครั้งนี้ว่าเป็นการปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรมซึ่งเป็นความรับผิดชอบของนาโตในการรักษาสันติภาพของยุโรป และป้องกันไม่ให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ดังเช่นที่เกิดขึ้นในสงครามบอสเนียระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๒-๑๙๙๕ อย่างไรก็ดี ทั้งโซลานาและนาโตก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงที่เป็นสาเหตุให้พลเรือนผู้บริสุทธิ์ล้มตายเป็นจำนวนมากจากเหตุการณ์โจมตีทางอากาศครั้งนี้ ในวันที่ ๒๓-๒๔ เมษายนคณะมนตรีแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Council) เปิดประชุมร่วมกับหัวหน้ารัฐบาลชาติสมาชิกที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เพื่อพิจารณาหาทางแก้ปัญหาคอซอวอที่ประชุมได้ลงมติรับรอง “แนวคิดยุทธศาสตร์ใหม่” (New Strategic Concept) ของนาโต ซึ่งเปลี่ยนจากวิธีการป้องกันตามแบบเดิมให้นาโตสามารถเข้าไปแทรกแซงในกรณีที่เหตุการณ์มีความรุนแรงได้มากขึ้นในวันที่ ๑๐ มิถุนายน กองกำลังเซอร์เบียก็ถอนตัวออกจากคอซอวอ นาโตจึงหยุดการโจมตี ทำให้สงครามคอซอวอยุติลง และในวันเดียวกันคณะมนตรีความมั่นคง (Security Council) ของสหประชาชาติ (United Nations)* ก็ลงมติที่ ๑๒๔๔ (Resolution 1244) ให้อำนาจนาโตในการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปรักษาการณ์ในดินแดนคอซอวอได้ ต่อมาในวันที่ ๑๒ มิถุนายน นาโตจึงได้ส่งปฏิบัติการพิทักษ์ร่วม (Operation Joint Guardian) ซึ่งเป็นกองกำลังรักษาความสงบเข้าไปปฏิบัติการร่วมกันเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยในคอซอวอ

 ส่วนในด้านการบริหารองค์การ ในช่วงเวลา ๔ ปีที่เขาเป็นเลขาธิการ โซลานาได้จัดให้มีการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองและการทหารของนาโตใหม่หลายประการรวมทั้งปรับยุทธศาสตร์ขั้นพื้นฐานบางประการด้วย เขาได้รับยกย่องว่าเป็นเลขาธิการนักการทูตที่ประสบความสำเร็จในการเจรจาเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีทั้งระหว่างชาติสมาชิกนาโตด้วยกันที่มีความเห็นต่างกันและระหว่างนาโตกับประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกซึ่งทำให้เกิดความร่วมมือในนาโตอย่างกว้างขวางมากขึ้นกว่าเดิม ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๕ ฝรั่งเศสได้กลับเข้ามาร่วมมือทางทหารกับนาโตเป็นบางส่วน หลังจากได้ถอนตัวออกไปเมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๖ ในสมัยประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle)* และในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๖ สเปนซึ่งเข้าเป็นสมาชิกนาโตตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๘๒ ก็เข้าร่วมในโครงสร้างทางทหารของนาโตเช่นกัน นอกจากนี้ ในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๗ หลังการเจรจากับเยฟเกนี ปรีมาคอฟ (Yevgeny Primakov) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียนานถึง ๔ เดือน นาโตก็ได้ลงนามกับรัสเซียในความตกลง “Paris NATO-Russian Founding Act” เพื่อให้ความร่วมมือทางด้านการทหารระหว่างกัน และในวันเดียวกัน โซลานายังได้เป็นประธานการประชุมหุ้นส่วนยูโร-แอตแลนติก (Euro-Atlantic Partnership Council) เพื่อปรับปรุงและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นสมาชิกกับประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกนาโตในยุโรป ขณะเดียวกันเขาก็มีนโยบายประสานความร่วมมือกับประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกด้วย ในช่วง ๔ เดือนของ ค.ศ. ๑๙๙๘ โซลานาได้เดินทางไปเยือนอดีตสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียตถึง ๘ แห่งพร้อมทั้งเสนอว่านาโตจะให้ความร่วมมือในด้านการป้องกันอย่างใกล้ชิดกับประเทศเหล่านี้ ขณะเดียวกันเขาก็ให้ความมั่นใจกับผู้นำสาธารณรัฐเช็ก สโลวีเนีย และบัลแกเรียว่านาโตพร้อมที่จะพิจารณาใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกนาโตของประเทศเหล่านี้ในทันทีที่ประเทศทั้งสามมีความพร้อม

 ในวันที่ ๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๙ ที่ประชุมสุดยอดยุโรปที่เมืองโคโลญ (Cologne) ได้ลงมติแต่งตั้งโซลานาให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปซึ่งเป็นผู้บริหารของคณะมนตรี และในเวลาเดียวกันที่ประชุมได้ลงมติว่าผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้จะได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนระดับสูงสำหรับนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคงซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง (Common Foreign and Security Policy-CFSP) อันเป็นเสาหลักที่ ๒ (Second Pillar) ของสหภาพยุโรปด้วย ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นโดยสนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัม (Treaty of Amsterdam) ค.ศ. ๑๙๙๗ ซึ่งมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. ๑๙๙๙ โซลานาจึงเป็นผู้แทนระดับสูงคนแรกของสหภาพยุโรปที่ได้ว่าการในตำแหน่งที่เป็นเสมือนรัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรปในเวทีโลกโซลานาลาออกจากนาโตในวันที่ ๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๙๙ ก่อนครบวาระ ๒ เดือน และเข้ารับตำแหน่งในสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ต่อมาในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน เขายังได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการองค์การสหภาพยุโรปตะวันตกที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๔ และต่อมาสนธิสัญญามาสตริกต์ได้โยงเข้าสู่กรอบของสหภาพยุโรปเพื่อให้ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในด้านการทหารของนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง ใน ค.ศ. ๒๐๐๔ เมื่อโซลานาดำรงตำแหน่งผู้แทนระดับสูงสำหรับนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคงมาครบวาระ ๕ ปี เขาก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่อเป็นวาระที่ ๒ จนถึง ค.ศ. ๒๐๐๙

 ในการปฏิบัติงานในตำแหน่งเลขาธิการคณะมนตรีและผู้แทนระดับสูงสำหรับซีเอฟเอสพี เขาให้ความสำคัญแก่งานของซีเอฟเอสพีเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสถาบันใหม่ที่จัดตั้งขึ้นตามสนธิสัญญามาสตริกต์และยังไม่มีผลงานโดดเด่นอย่างเป็นรูปธรรมเท่าใดนัก เขาจึงทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับการทำงานในซีเอฟเอสพี โดยมอบหมายงานประจำในด้านการบริหารของคณะมนตรีให้ปีแยร์ เดอ บัวซีเยอ (Pierre de Boissieu) รองเลขาธิการซึ่งเป็นผู้มีความสามารถสูงและชำนาญการในด้านนี้มาก่อนรับผิดชอบเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นงานในด้านนโยบายและการตัดสินใจที่เขายังคงต้องรับผิดชอบอยู่

 ตลอดระยะเวลา ๑๐ ปีที่โซลานาดำรงตำแหน่งผู้แทนระดับสูงสำหรับซีเอฟเอสพีนั้น เขาได้แสดงความสามารถในด้านการต่างประเทศอย่างโดดเด่นทั้งในต้านการกำหนดนโยบายต่างประเทศ การดำเนินงานทางการทูต และการปรับปรุงซีเอฟเอสพีให้เป็นกลไกการดำเนินงานด้านการต่างประเทศและความมั่นคงของสหภาพยุโรปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยติดต่อประสานงานอย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) โดยเฉพาะกับประธาน (President) และกรรมาธิการด้านการต่างประเทศ (External Relations Commissioner) ซึ่งรับผิดชอบการต่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและการค้า รวมทั้งองค์กรหลักอื่น ๆ ของสหภาพยุโรปตลอดจนผู้แทนรัฐบาลชาติสมาชิกทุกประเทศ หน้าที่หลักของโซลานาในฐานะผู้แทนระดับสูงคือเป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรีต่างประเทศในคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปเพื่อกำหนด ตัดสินใจ และดำเนินนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงตามมติของที่ประชุม เข้าร่วมประชุมระหว่างสหภาพยุโรปกับรัสเซียตามข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement) ค.ศ. ๑๙๙๗ ปีละ ๒ ครั้ง และเข้าร่วมประชุมสุดยอดประจำปีระหว่างสหภาพยุโรปกับสหรัฐอเมริกา (Annual EU-US Summit) รวมทั้งเข้าประชุมสุดยอดยุโรปร่วมกับประธานคณะกรรมาธิการยุโรปทุกครั้งทั้งยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนสหภาพยุโรปในการดำเนินการเจรจาทางการเมืองและการจัดทำสนธิสัญญาความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศต่าง ๆ ด้วย

 ในด้านการบริหารจัดการ โซลานามีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานและพัฒนาซีเอฟเอสพีให้เป็นสถาบันหลักที่ทำหน้าที่ในด้านความมั่นคงและการป้องกันยุโรปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เขาได้ปรับปรุงและแต่งตั้งคณะทำงานและคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างทันห่วงทีซึ่งเป็นงานที่ยากมาก เพราะการจัดตั้งหน่วยงานด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงไม่สามารถทำได้ในเวลาอันสั้น โดยเฉพาะงานในด้านการป้องกันประเทศเพราะงานบางเรื่องของอียูซํ้าซ้อนกับงานของนาโต อีกทั้งสมาชิกบางประเทศของอียูก็ไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต เช่น ไอร์แลนด์ในขณะที่สมาชิกนาโตบางประเทศก็ไม่ได้เป็นสมาชิกอียู เช่น ตุรกี นอกจากนี้ การที่ซีเอฟเอสพีเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลที่มิได้มีอำนาจเหนือรัฐก็ทำให้สมาชิกอียูบางประเทศสามารถสงวนสิทธิ์ในการเข้าร่วมกิจกรรมและการดำเนินนโยบายบางประการของอียูได้ โซลานาจึงต้องใช้ความสามารถอย่างมากในการเจรจาสร้างความประนีประนอมเพื่อทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างชาติสมาชิกและระหว่างอียูกัปนาโตและทำให้งานสามารถดำเนินต่อไปได้ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๙ เขาได้จัดตั้งนโยบายความมั่นคงและการป้องกันยุโรป (European Security and Defence Policy-ESDP) ขึ้นเพื่อใช้เป็นกลไกในการดำเนินงานด้านการจัดการกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและใน ค.ศ. ๒๐๐๓ โซลานาได้จัดตั้งหน่วยงานป้องกันยุโรป (European Defence Agency-EDA) ขึ้นอีกหน่วยงานหนึ่งเพื่อให้มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการป้องกันและการทหารโดยตรง นอกจากนี้ เขายังได้ดูแลการถ่ายโอนอำนาจและหน่วยงานต่าง ๆ ขององค์การสหภาพยุโรปตะวันตกให้เข้ากับกระบวนการทำงานของซีเอฟเอสพีได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์ในด้านความมั่นคงใหม่ ๆ ให้แก่สหภาพยุโรป เพื่อให้สอดคล้องกับการเมืองโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ใน ค.ศ. ๒๐๐๓ เขาได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงยุโรป (European Security Strategy-ESS) ในชื่อ “A Secure Europe in a Better World” ซึ่งระบุภัยคุกคามหลักของสหภาพยุโรปไว้ ๕ ประการ ได้แก่ การก่อการร้ายการแพร่กระจายของอาวุธทำลายล้างสูง ความขัดแย้งในภูมิภาค ความล้มเหลวชองรัฐและอาชญากรรมเครือข่าย ต่อมาในวันที่ ๒๕ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๐๔ โซลานาได้แต่งตั้งไกส์ เดอ ฟรีส (Gijs de Vries) เป็นผู้ประสานงานต่อต้านการก่อการร้ายของซีเอฟเอสพีโดยตัวเขาเองเป็นผู้กำหนดขอบเขตและภาระงานของตำแหน่งนี้

 ขณะเดียวกัน โซลานาก็มีส่วนทำให้อียูเข้าไปมีบทบาทอย่างกว้างขวางในด้านการส่งเสริมและการรักษาสันติภาพของโลก เขาเป็นผู้แทนอียูในการเจรจาจัดทำสนธิสัญญาความร่วมมือระหว่างอียูกับประเทศในตะวันออกกลางและลาตินอเมริกาหลายประเทศ รวมทั้งโบลิเวียและโคลอมเบีย นอกจากนี้ อียูยังได้ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพชุดต่าง ๆ เข้าไปปฏิบัติการร่วมกับสหประชาชาติและนาโตในดินแดนที่มีความขัดแย้งในคาบสมุทรบอลข่าน และในการจัดตั้งประเทศมอนเตเนโกร (Montenegro) ที่แยกตัวออกจากอดีตสหพันธ์ยูโกสลาเวีย โซลานาเป็นผู้เสนอให้รวมเซอร์เบียเข้าด้วยกันในฐานะประเทศเอกราชเพื่อป้องกันไม่ให้คอซอวอและวอยโวดินา (Vojvodina) ดึงเซอร์เบียไปร่วมด้วย สื่อท้องถิ่นบางฉบับถึงกับเรียกชื่อมอนเตเนโกรในเชิงล้อเลียนเขาว่า “โซลาเนีย” (Solania) ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๐๔ โซลานาเป็นผู้แทนอียูเข้าประชุม ๔ ฝ่ายร่วมกับสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และสหประชาชาติ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ในตะวันออกกลาง เขามีบทบาทสำคัญในการจัดทำร่างแผนสันติภาพ (Road Map for Peace) สำหรับประเทศทั้งสองร่วมกับผู้แทนอื่น ๆ ทั้งยังได้เดินทางไปพบแอเรียล ชารอน (Ariel Sharon) ผู้นำอิสราเอลด้วยตนเองเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม และอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ค.ศ. ๒๐๐๕ นอกจากนี้ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๐๔ โซลานายังได้ช่วยอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ในการเจรจากับอิหร่านเพื่อขอให้ยุติการสะสมวัสดุนิวเคลียร์ที่มีอานุภาพในการทำลายล้างสูง

 ใน ค.ศ. ๒๐๐๔ หลังการจัดทำสนธิสัญญาจัดตั้งรัฐธรรมนูญสำหรับยุโรป (Treaty establishing a Constitution for Europe) เสร็จสิ้นลง เป็นที่คาดหวังกันโดยทั่วไปว่าโซลานาจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพ (Union Minister for Foreign Affairs) ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยรวมตำแหน่งกรรมาธิการด้านการต่างประเทศเข้ากับซีเอฟเอสพีเป็นตำแหน่งเดียวกัน แต่เมื่อรัฐธรรมนูญไม่มีผลบังคับใช้เนื่องจากไม่ได้รับการให้สัตยาบันครบทุกประเทศ โซลานาจึงดำรงตำแหน่งเดิมต่อไปจนหมดวาระที่ ๒ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๒๐๐๙ พร้อม ๆ กับการมีผลบังคับใช้ของสนธิสัญญาลิสบอน (Treaty of Lisbon) ค.ศ. ๑๙๙๗ ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อใช้แทนสนธิสัญญาจัดตั้งรัฐธรรมนูญสำหรับยุโรป โซลานาจึงเป็นผู้แทนระดับสูงของซีเอฟเอสพีเพียงคนเดียวเพราะหลังจากนั้นสนธิสัญญาลิสบอนยกเลิกระบบเสาหลัก (Pillar System) และได้รวมตำแหน่งนี้เข้ากับตำแหน่งกรรมาธิการด้านการต่างประเทศเป็นตำแหน่งเดียวกันในชื่อผู้แทนระดับสูงของสหภาพเพื่อการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง (High Representative of the Union for Foreign Affairs and Security Policy) เพื่อให้กิจการต่างประเทศทุกเรื่องและการดำเนินนโยบายความมั่นคงของสหภาพยุโรปอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาเดียวกัน ผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ คือ แคเทอรีน แอชตัน (Catherine Ashton) ชาวอังกฤษอดีตกรรมาธิการด้านการต่างประเทศในคณะกรรมาธิการยุโรป

 ในด้านชีวิตส่วนตัว โซลานาสมรสกับกอนเซปซีออน คีเมเนซ (Concepción Giménez) และมีบุตรด้วยกัน ๒ คน คือ ดีเอโก (Diego) และเบกา (Vega) ขณะดำรงตำแหน่งในสหภาพยุโรป โซลานาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในกรุงบรัสเซลส์ หลังพันจากตำแหน่งแล้วเขาจึงเดินทางกลับมาพำนักอย่างถาวรในสเปน ความสำเร็จอย่างโดดเด่นในการทำงานทางด้านการทูตตลอดระยะเวลาเกือบ ๒๐ ปี ทำให้ฟรันซีสโก คาเบียร์ โซลานา มาดาเรียกา หรือคาเบียร์ โซลานา ตามที่คนส่วนใหญ่รู้จักได้รับการเชิดชูเกียรติและเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากสถาบันและประเทศต่าง ๆ มากมาย เช่น ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Grand Cross of Isabel the Catholic in Spain จากรัฐบาลสเปนเหรียญ Manfred Wömer Medal จากกระทรวงกลาโหมสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และได้รับรางวัล Vision for Europe Award ใน ค.ศ. ๒๐๐๓ และในปีเดียวกันเขายังได้รับรางวัลรัฐบุรุษแห่งปี (Statesman of the Year Award) จากสถาบันอีสต์-เวสต์ (East-West Institute) แห่งนครนิวยอร์ก รวมทั้งรับรางวัล Carnegie Wateler Peace Prize ใน ค.ศ. ๒๐๐๖ และรางวัลชาร์เลอมาญ (Charlemagne Prize) ใน ค.ศ. ๒๐๐๗ สำหรับผู้มีผลงานดีเด่นในการทำงานเพื่อการบูรณาการยุโรป ใน ค.ศ. ๒๐๑๐ พระเจ้าควน การ์โลสทรงแต่งตั้งคาเบียร์ โซลานาเป็นอัศวินคนที่ ๑,๑๙๔ แห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์โกลเดนฟลีซ (Order of the Golden Fleece) ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดของสเปน สำหรับความสำเร็จทางด้านการทูตของเขา.



คำตั้ง
Solana Madariaga, Francisco Javier
คำเทียบ
นายฟรันซิสโก คาเบียร์ โซลานา มาดาเรียกา
คำสำคัญ
- กระบวนการบาร์เซโลนา
- กองทัพปลดปล่อยคอซอวอ
- กอนซาเลส, เฟลีเป
- กาเบรรา, นีโกลัส
- การประชุมหุ้นส่วนยูโร-แอตแลนติก
- การ์โลส, ควน
- เกลส์, วิลลี
- โกล, ชาร์ล เดอ
- ข้อตกลงเดย์ตัน
- คณะกรรมาธิการยุโรป
- คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป
- คณะมนตรีแอตแลนติกเหนือ
- คีเมเนซ, กอนเซปซีออน
- เงินยูโร
- ชารอน, แอเรียล
- โซลานา มาดาเรียกา, ฟรันซิสโก คาเบียร์
- เตเคโร, อันโตเนียว
- นโยบายความมั่นคงและการป้องกันยุโรป
- นโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง
- บัลแกเรีย
- บัวซีเยอ, ปีแยร์ เดอ
- ปฏิบัติการพิทักษ์ร่วม
- ปรีมาคอฟ, เยฟเกนี
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งสเปน
- พรรคสังคมนิยม
- ฟรังโก, พลเอก ฟรันซิสโก
- ฟรังโก, ฟรันซิสโก
- ฟรีส, ไกส์ เดอ
- ยูโกสลาเวีย
- รัฐธรรมนูญสำหรับยุโรป
- สงครามบอสเนีย
- สงครามเย็น
- สนธิสัญญามาสตริกต์
- สนธิสัญญาลิสบอน
- สนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัม
- สหประชาชาติ
- สหภาพยุโรป
- สหภาพยุโรปตะวันตก
- ออร์โดเญซ, ฟรันซิสโก เฟร์นันเดซ
- แอชตัน, แคเทอรีน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1942-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๘๕-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-